วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2555


ปัญหาการค้าสัตว์ป่า

ธุรกิจการลักลอบค้าสัตว์ป่าถือได้ว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจตลาดมืดที่ให้กำไรต่ออาชญากรผู้ค้าสูง ผลกระทบจากการค้าผนวกกับการสูญเสียพื้นที่ป่าส่งผลให้สัตว์ป่าหลายชนิดอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ การลักลอบล่าสัตว์ ตัดไม้และการลักลอบขนลำเลียงสัตว์ป่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกที่ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และเนื่องจากอาชญากรมักทำงานกันเป็นขบวนการจึงทำให้ธุรกิจการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายทั่วโลกนั้นสูงถึงหลายพันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
แม้สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์หลายชนิดได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายของแต่ละประเทศและระดับนานาชาติ แต่สัตว์ป่าหลายชนิดก็ยังถูกลักลอบค้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งเสือโคร่ง ตัวนิ่ม(หรือตัวลิ่น) สัตว์เลื้อยคลานต่างๆ นก งาช้าง และไม้เถื่อน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลจากการหาสินค้าเพื่อสนองความต้องการของตลาดไม้เนื้อแข็ง ไม้เนื้ออ่อน พันธุ์ไม้หายาก กระดูกหรือส่วนอื่นๆเพื่อมาประกอบยารักษาโรค ตลาดสัตว์เลี้ยงและสวนสัตว์ นักสะสมและของตกแต่ง รวมทั้งเพื่อการบริโภคเนื้อตามตำรับเมนูเปิบพิสดาร ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่า โดยเฉพาะผู้บริโภคทั้งหลาย ไม่มีความตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมาหากสัตว์ป่าเหล่านี้ต้องสูญพันธุ์ไป
ทั้งนี้ สัตว์ป่าทั้งหลายถูกลักลอบล่าออกจากป่าเร็วกว่าอัตราการเพิ่มประชากรของสัตว์ ซึ่งท้ายที่สุดส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศวิทยา นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ทำให้สัตว์ป่าอื่นๆพลอยสูญพันธุ์ไปด้วยในที่สุด
ผลกระทบจากปัญหาการค้าสัตว์ป่า ได้แก่
•    การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจำนวนมากและไม่สามารถเอากลับคืนมาได้ ซึ่งนักวิทยาศาสต์คาดการณ์ไว้ว่าหากเหตุการณ์เช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไป สัตว์ป่าและพืชป่าในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึง 13-42% จะสูญพันธุ์ไปในศตวรรษนี้ และอัตราการสูญเสียอย่างน้อยครึ่งหนึ่งจากจำนวนดังกล่าวก็เท่ากับสัตว์เหล่านั้นจะสูญพันธุ์ไปจากโลกใบนี้อย่างถาวร
•    การสูญเสียระบบนิเวศวิทยาของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังแหล่งต้นน้ำลำธาร แหล่งอาหารและความแปรปรวนของสภาพอากาศ
•    ปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่าเพิ่มอัตราความเสี่ยงของการแพร่ระบาดไวรัสและเชื้อโรคจากสัตว์สู่คน เช่น การระบาดของโรคซาร์สและโรคไข้หวัดนก เป็นต้น
•    แก๊งค์อาชกรรมเหล่านี้อยู่ได้ด้วยกำไรมหาศาลจากการลักลอบค้าสัตว์ป่า ซึ่งปัจจุบันสามารถพิสูจน์ได้ว่า อาชญากรรมด้านสัตว์ป่ามีส่วนเชื่อมโยงไปยังอาชญากรรมด้านอื่นๆด้วย อาทิ ยาเสพติดและการค้ามนุษย์

ข้อมูลทางบรรณานุกรม

มูลนิธิฟรีแลนด์.  (ม.ป.ป.). ปัญหาการค้าสัตว์ป่า.  ค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2555, จาก
                    http://freeland.org/th/wildlife-trafficking/the-problem

1 ความคิดเห็น: